ขนมเข่งมะพร้าวอ่อน – Sweet rice cake with young coconut

ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษชาวจีนที่นำสามสิ่งที่หาง่ายในครัวเรือน แป้งข้าวเหนียว น้ำตาล น้ำ ผสมรวมกันแล้วนำไปนึ่ง ทำให้เกิดเป็นขนมเข่งที่เหนียวนุ่น หวานละมุน เป็นขนมเค้กประจำปีที่นิยมทานในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ขนมเข่ง บางครั้งเรียกว่า “เค้กข้าว” “เค้กประจำปี” หรือ “เค้กตรุษจีน” เป็นขนมหวานของชาวจีนที่แพร่หลายในแถบเอเชีย ทั้ง ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา พม่า ศรีลังกา และรวมทั้งประเทศไทย

ทำไมต้องกินขนมเข่งในช่วงตรุษจีน

ในภาษาจีนเรียกขนมเข่งว่า “เหนียนเกา” (年糕: Nian Gao) 

  • คำว่า “เหนียน” (年) แปลว่า “ปี” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “เหนียน” (粘) ที่มีความหมายว่า “เหนียว” 
  • ส่วนคำว่า “เกา” (糕) แปลว่า “เค้ก” ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า “เกา” (高) ที่มีความหมายว่า “สูง”

“เหนียนเกา” (年糕) จึงแปลว่า “เค้กที่เหนียว” “เค้กปี” หรือ “เค้กประจำปี” และอาจมีความหมายเป็นนัยว่า “ปีที่สูงขึ้น” “ปีที่เจริญรุ่งเรืองขึ้น” ดังนั้นชาวจีนจึงเชื่อว่าการกินขนมเข่งจะทำให้เจริญ โชคดี ในปีที่จะมาถึงและจะเป็นปีที่ดีขึ้นกว่าปีก่อน

ทุกปีก่อนจะถึงวันตรุษจีน ครอบครัวชาวจีนจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ โดยเฉพาะห้องครัว เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าผู้พิทักษ์ห้องครัว (Kitchen God) “เซ่าจุน” (Zao Jun) หรือ “เซ่าเชน” (Zao Shen) หรือ “เชี่ยงหลาง” (Zhang Lang)

เทพเจ้าผู้พิทักษ์ห้องครัวเซ่าจุน (Zao Jun)

ชาวจีนมีเรื่องเล่ากันมาว่า ช่วงใกล้ถึงวันตรุษจีนของทุกปี เทพเจ้าผู้พิทักษ์ห้องครัว ผู้ปกป้องความผาสุกของคนในครอบครัว จะกลับขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อรายงานความประพฤติในปีที่ผ่านมาของคนในครอบครัว กับ “เง็กเซียนฮ่องเต้” (Yu Huang) หรือ “ทีกง” (Tee Kong) หรือ “จักพรรดิหยก” (The Jade Emperor) คนในครอบครัวจะได้รับความเจริญรุ่งเรืองในปีที่จะมาถึงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรายงานประจำปีนี้

เชื่อกันว่าการเซ่นไหว้ขนมเข่งและของหวานต่างๆต่อเทพเจ้าผู้พิทักษ์ห้องครัวจะเป็นสินน้ำใจทำให้ท่านรายงานแต่สิ่งที่ดี ซึ่งจะนำพาความเจริญก้าวหน้าแก่สมาชิกในครอบครัวในปีที่จะมาถึง บ้างก็เชื่อว่าขนมเข่งที่มีความเหนียว เวลากินจะทำให้ริมฝีปากของเทพเจ้าผู้พิทักษ์ห้องครัว เหนียวติดกันจนไม่สามารถพูดรายงานสิ่งที่ไม่ดีได้

รูปแบบของขนมเข่ง

“Nian Gao” ขนมเข่ง จีน

ขนมเข่งในประเทศจีนมีหลายรูปแบบ และจะนิยมใส่น้ำตาลทรายแดงแบบแผ่น (冰片糖 – Bing Pian Tang)  จึงทำให้ขนมเข่งมีสีน้ำตาลอ่อน ถึงน้ำตาลเข้ม บางครั้งจะใส่ พุทราจีน หรือ ถั่วแดงบด หรือ ถั่วเขียวบด ทางเหนือของจีนจะนิยมกินขนมเข่งที่เป็นของหวาน ส่วนทางตอนใต้จะมีทั้ง ขนมเข่งที่เป็นของหวานและของคาว

ขนมเข่ง มณฑลกวางตุ้ง (Cantonese)
ภาพ: Geoffreyrabbi / CC BY-SA license
น้ำตาลทรายแดงแบบแผ่น (冰片糖 – Bing Pian Tang)
ภาพ: Anna Frodesiak / CC

ที่นครเซี่ยงไฮ้ มีอาหารจานผัดที่เรียกว่า “เช่าเหนียนเกา” ((炒年糕 – Chǎo Nián Gāo) ซึ่งจะนำขนมเข่งมาผัดกับ เนื้อสัตว์ ต้นหอม หรือ ผักต่างๆ ขนมเข่งชนิดนี้ไม่ใส่น้ำตาล เป็นเค้กข้าวสีขาวที่มีรสจืด มีขายสำเร็จรูป ทั้งที่เป็นแบบแท่งทรงกระบอก และแบบที่หั่นแล้วเป็นชิ้นบางๆรูปวงรี เค้กข้าวชนิดนี้ยังนำไปใส่ในซุบที่เรียกว่า “เหนียนเกาทัง” (年糕汤 – Niángāo Tāng) กินเหมือนก๋วยเตี๋ยวน้ำ คล้ายกับ “ต๊อกกุก” (떡국 – Tteokguk) ซุปเค้กข้าว ที่นิยมกินกันในช่วงปีใหม่ของคนเกาหลี

ขนมเข่ง – เค้กข้าวผัดแบบเซี่ยงไฮ้
ภาพ: avlxyz from (optional) / CC BY-SA
“ต๊อกกุก” (Tteokguk) ซุปเค้กข้าวของเกาหลีภาพ: soscs / CC0

“Kue Keranjang” ขนมเข่ง อินโดนีเซีย

ชาวอินโดนีเซียที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา (Java island) เรียกขนมเข่งว่า “คู คะแรงแจง” (Kue Keranjang) หรือ “เค้กตระกร้า” (Basket Cake) ส่วนทางตะวันตกของเกาะชวาเรียกขนมเข่งว่า “คู ไชนา” (Kue Cina) หรือ เค้กจีน (Chinese Cake) 

ตามธรรมเนียมแล้วจะใช้ใบตองวางในตระกร้าไม้ไผ่สาน ใส่ขนมเข่งแล้วนำไปนึ่งจนน้ำตาลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทองเข้ม ซึ่งอาจจะใช้เวลานานถึง 14 ชั่วโมง

บางครั้งขนมเข่งจะถูกนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ นำไปปิ้ง แล้วโรยด้วยมะพร้าวขูด เพื่อเพิ่มความหอมก่อนนำมารัปประทาน

ขนมเข่ง อินโดนีเซีย (Kue Keranjang)
ภาพ: Juliana Phang / CC BY

“Kuih Bakul” ขนมเข่ง มาเลเซีย

คนมาเลเซียเรียกขนมเข่งว่า “คุ่ย บาคู” (Kuih Bakul) หรือ “เค้กตระกร้า” (Cake in a Basket) ซึ่งจะนึ่งใส่ใบตองวางในตระกร้าไม้ไผ่สาน เหมือนขนมเข่งของอินโดนีเซีย

ชาวมาเลเซียนิยมนำ ขนมเข่ง เผือกหอม และ มันเทศ(สีส้ม) มาหั่นเป็นชิ้นบางประมาณ 0.5-0.6 cm. แล้วนำขนมเข่งวางเป็นไส้ไว้ตรงกลางระหว่าง เผือกหอม กับ มันเทศ จากนั้นนำไปชุบ แป้งข้าวเจ้า ผสมกับ น้ำ และ เกลือ นำไปทอดจนด้านนอกเหลืองกรอบ เป็น แซนวิสขนมเข่ง

“Tikoy” ขนมเข่ง แบบฟิลิปปินส์

ประเทศฟิลิปปินส์มีประชากรชาวจีนจำนวนมาก ขนมเข่งจึงเป็นที่นิยมในเทศกาลตรุษจีน ชาวฟิลิปปินส์เรียกขนมเข่งว่า “ทีกอย” (Tikoy) มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน (Hokkien) 

โดยทั่วไปจะนิยมนำขนมเข่งมาหั่นเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม ชุบไข่ แล้วนำไปทอด

“Bánh tổ” ขนมเข่ง เวียดนาม

“บั๊นโต๋” (Bánh tổ) หรือ เค้กบรรพบุรุษ (Ancestor Cake) ของชาวเวียดนาม เป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างเหนียวแน่น ขนมเข่งแบบเวียดนามจะนึ่งในใบตอง และใส่น้ำต้มขิงเพื่อเพิ่มความหอม หลังจากนึ่งเสร็จแล้วจะโรยหน้าด้วยงาขาวคั่ว

ขนมเข่งไทย

เป็นที่รู้กันว่าคนไทยรักการกิน การทำอาหาร ทำให้ขนมเข่งในประเทศไทยมี หลายรูป หลายสี หลายกลิ่น และ หลายรส รวมกับความหอมของใบตองจากการนึ่ง

  • นึ่งกับน้ำตาลทรายขาว ขนมเข่งก็จะเป็น สีขาวไข่มุก (Pearl)
  • นึ่งกับน้ำตาลทรายแดง หรือ น้ำตาลมะพร้าว หรือ ฟักทองบด ขนมเข่งก็จะมี สีเหลืองบุษราคัม (Yellow sapphire)
  • ใส่น้ำใบเตยให้เป็น สีเขียวมรกต (Emerald) 
  • ใส่นำ้ดอกอัญชัญให้เป็น สีม่วงอเมทิสต์ (Amethyst) 
  • ใส่ใส้ถั่วเขียวเค็ม ทำให้ขนมเข่งมีรสมันเค็ม ตัดเลี่ยนกับความหวาน
  • ใส่เม็ดแปะก๊วย (Ginkgo nuts) เพราะเชื่อว่าเป็นยาบำรุง 
  • ใส่น้ำมะพร้าว เพื่อเพิ่มความหอม และละมุนความหวาน

คนทางใต้บางพื้นที่จะคุ้นเคยกับขนมเข่งที่มีสีน้ำตาลเข้ม เหมือนขนมเข่งของ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ส่วนขนมเข่งของคนภาคกลางส่วนใหญ่จะมี สีขาว หรือ สีน้ำตาลอ่อน

การใส่มะพร้าวอ่อนในขนมเข่ง ก็เป็นอีกหนึ่งความคิดสร้องสรรค์ของคนไทย เพิ่มความหอมมันเวลาเคี้ยว

ขนมเข่งมะพร้าวอ่อน – Sweet rice cake with young coconut

ขนมเข่งมะพร้าวอ่อน – Sweet rice cake with young coconut

ขนมเข่งมะพร้าวอ่อน สูตรเหนียวนุ่ม หอมมะพร้าว มีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก เหมาะสำหรับทำทานในเทศกาลตรุษจีน หรือทำเป็นอาหารว่างทานเล่น 
Prep Time15 minutes
Cook Time30 minutes
Course: Dessert
Cuisine: Thai
Servings: 30 กระทง / pieces
Keyword: Vegetarian

Ingredients  

  • 1 kg แป้งข้าวเหนียว Glutinous rice flour
  • 1 kg เนื้อมะพร้าวอ่อน ขูด Shredded young coconut meat
  • 800 grams น้ำตาลทรายขาว Granulated sugar
  • 3 ½  cups น้ำเปล่า Water
  •     น้ำมันพีช สำหรับทากระทง Vegetable oil to greasing the cup
  • 30-35 pcs กระทงใบตอง เส้นผ่าศูนย์กลาง 2”-2½”  Banana leaf cups – diameter: 2”-2½”

Instructions
 

  • นำ แป้งข้าวเหนียว และ เนื้อมะพร้าวอ่อนขูด ใส่ชามผสม ใช้มือนวด ผสมให้เข้ากัน
    Put glutinous rice flour, shredded young coconut meat in a mixing bowl and mix together by hand.
  • ใส่ น้ำตาลทรายขาว ใช้มือนวด ผสมให้เข้ากัน
    Add sugar and mix well with your hand.
  • ใส่ น้ำเปล่า ใช้มือนวด ผสมให้เข้ากัน
    Add water and mix well with your hand.
  • ทา น้ำมันพืช ใน กระทงใบตอง เพื่อไม่ให้ขนมเข่งติดกับใบตอง
    Spread the vegetable oil around the inside of the banana leaf cups.
  • ตักส่วนผสมใส่กระทงใบตอง
    Use a ladle to divide the mixture into the banana leaf cups.
  • นำไปนึ่ง ด้วยไฟกลาง 20-25 นาที จนขนมเข่งสุก
    Steam on medium heat for 20-25 minutes until fully cooked.

Video

Leave a Reply

Recipe Rating